วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ISDN



ISDN คืออะไร ?
ISDN (INTEGRATED SERVICES DIGITAL NETWORK) หรือบริการสื่อสารร่วมระบบดิจิตอล เป็นบริการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของระบบสื่อสารโทรคมนาคม สามารถรับส่งสัญญาณเสียง ข้อมูลและภาพได้ด้วยระบบดิจิตอลสมบูรณ์แบบ และมีความเร็วสูงกว่าการสื่อสารในระบบธรรมดาทั่วไป ทำให้คุณภาพของเสียง ข้อมูลและภาพที่ส่งผ่านระบบ ISDN มีความชัดเจน ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้นบริการ ISDN จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัยและคล่องตัวในการรับส่งข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบที่จำเป็นในการตัดสินใจได้อย่างครบถ้วน รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ในโลกธุรกิจ


คุณสมบัติพิเศษของ ISDN
1.ผู้ใช้บริการ ISDN สามารถติดต่อสื่อสารได้หลายรูปแบบ โดยผ่านคู่สาย ISDN เพียงคู่สายเดียว เช่น
-สัญญาณเสียง
-สัญญาณเสียงพูด
-โทรสาร
-การรับส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างคอมพิวเตอร์, เมนเฟรมกับเทอร์มินัล, ระบบแลน, เทเล็กซ์, เทเลเท็กซ์และวีดีโอเท็กซ์
-ภาพนิ่ง
-ภาพเคลื่อนไหว
-การส่งสัญญาณเสียงพูดไปพร้อมกับภาพเคลื่อนไหว เช่น VIDEO PHONE (โทรศัพท์ ภาพ) ซึ่งสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อถึงกันได้โดยในขณะเดียวกันก็แสดงภาพเคลื่อนไหวของคู่สนทนาให้ปรากฏบนจอภาพของโทรศัพท์ภาพด้วย หรือ VIDEO CONFERENCE (อุปกรณ์สื่อสารที่ใช้ในการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ)
-การรับส่งข้อมูลไปพร้อมกับสัญญาณเสียงพูด เช่น MULTIFUNCTION TERMINAL เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อพ่วงด้วยโทรศัพท์ ซึ่งสามารถส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้รับปลายทางด้วยความเร็วสูง พร้อมๆกับการพูดโต้ตอบทางโทรศัพท์กับผู้รับปลายทางได้ในขณะเดียวกัน
-การส่งสัญญาณเสียงพูดไปพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวและส่งข้อมูลไปยังผู้รับปลายทางได้ในขณะเดียวกัน เช่น DESKTOP VIDEO CONFERENCE เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อพ่วงด้วยโทรศัพท์ ซึ่งสามารถพูดโต้ตอบทางโทรศัพท์ โดยมีการแสดงภาพเคลื่อนไหวของคู่สนทนาบนจอคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งยังสามารถทำการส่งผ่านข้อมูลด้วยความเร็วสูงไปยังผู้รับปลายทางได้อีกด้วย
2.คู่สาย ISDN เพียง 1 คู่สาย สามารถรองรับการตดตั้งอุปกรณ์ปลายทางได้จำนวนมาก (สูงสุดถึง 8 เครื่อง) โดยการติดตั้งปลั๊ก ISDN (ปลั๊กเอนกประสงค์สำหรับติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้งานทุกชนิด) ตามจำนวนอุปกรณ์สื่อสารที่ต้องการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้บริการ ISDNนอกจากจะติดตั้งอุปกรณ์ปลายทางบางส่วนสำหรับใช้งานปัจจุบันแล้ว อาจจะเผื่อสำรองการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคตก็ได้


3.คู่สายระบบ ISDN มีจำนวนช่องสัญญาณมากกว่าคู่สายโทรศัพท์ในระบบธรรมดา ทำให้สามารถใช้งานอุปกรณ์สื่อสารพร้อมกัน 2 เครื่องในเวลาเดียวกัน โดยในขณะที่ผู้ใช้บริการ ISDN กำลังติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้บริการอื่นอยู่นั้น ผู้ใช้บริการก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้บริการรายอื่นอีกรายหนึ่งได้อีกโดยใช้ช่องสัญญาณใช้งานที่เหลืออยู่ หรือผู้ใช้บริการรายอื่นๆเรียกติดต่อมายังผู้ใช้บริการ ISDN ได้โดยผ่านคู่สาย ISDN เส้นเดียวกันนี้ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วและคล่องตัวแก่ธุรกิจ และผู้ใช้บริการ ISDN ไม่สูญเสียโอกาสในทางธุรกิจ

4.รับส่งข้อมูลข่าวสารโดยใช้สัญญาณระบบดิจิตอลซึ่งคุณภาพของสัญญาณจะแน่นอนชัดเจนและถูกต้องกว่าการส่งสัญญาณอนาล็อกและไม่ต้องมีการแปลงสัญญาณแต่อย่างใด ความคลาดเคลื่อนและสิ่งรบกวนจึงน้อยมาก นอกจากนี้ระบบ ISDN ยังสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงถึง 64 Kbps(กิโลบิตต่อวินาที) ต่อ 1 ช่องสัญญาณซึ่งสูงกว่าระบบปกติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้ประหยัดเวลาในการใช้รับส่งข่าวสารซึ่งเป็นเวลาที่มีค่าของธุรกิจ เนื่องจาก ISDN สามารถรับส่งข่าวสารได้เป็นปริมาณมากๆ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และทั้งยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารให้กับธุรกิจอีกด้วย

5.ผู้ใช้บริการ ISDN สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้บริการรายอื่นที่อยู่โครงข่ายโทรศัพท์ (PUB LIC SWITCHING TELEPHONE NETWORK) ในปัจจุบันได้ทันที นอกจากนี้โครงข่ายบริการ ISDN ยังสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายส่วนบุคคลอื่นๆ (เช่น LAN, PABX ฯลฯ) ได้อีกด้วย ทำให้ผู้ใช้บริการ ISDN สามารถติดต่อกับผู้ใช้บริการรายอื่นได้ทั่วประเทศ

อุปกรณ์เครื่องปลายทางที่ใช้ในระบบ ISDN
ผู้ใช้บริการ ISDN สามารถเลือกติดตั้งอุปกรณ์เครื่องปลายทางได้ดังนี้ คือ
1.อุปกรณ์เครื่องปลายทางที่เป็นระบบ ISDN เป็นอุปกรณ์ที่สามารถต่อเข้ากับปลั๊ก ISDN แล้วสามารถใช้งานได้ทันที ได้แก่
-โทรศัพท์ระบบ ISDN (DIGITAL TELEPHONE)
-โทรสารระบบดิจิตอล (GROUP 4)
-เครื่องคอมพิวเตอร์หรือดาต้าเทอร์มินัลที่ติดตั้งการ์ด ISDN หรือ DIGITAL MODEM
-โทรศัพท์ภาพ (VIDEO PHONE)
-บริการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (TELE-CONFERENCE)
-ตู้สาขาอัตโนมัติระบบ ISDN (ISDN PABX)
2.อุปกรณ์ที่ใช้กันอยู่ในระบบเดิมจะต้องต่อผ่านอุปกรณ์แปลงสัญญาณที่เรียกว่า TERMINAL ADAPTER (TA) ก่อนที่จะใช้งานในคู่สายระบบ ISDN ได้แก่


-โทรศัพท์ทั่วไป
-โทรสารทั่วไป (GROUP 3)
-เครื่องคอมพิวเตอร์หรือดาต้าเทอร์มินัลต่อเข้ากับ TA แทนการใช้ MODEM สื่อสารข้อมูลในปัจจุบัน
-เทเล็กซ์
-เทเลเท็กซ์
-วีดีโอเท็กซ์



บริการของ ISDN
บริการหลักมี 2 รูปแบบ คือ
1.แบบ BAI (BASIC ACCESS INTERFACE) เป็นรูปแบบการให้บริการเดินสายตรงถึงสำนักงานผู้ใช้บริการด้วยคู่สายเคเบิลทองแดงธรรมดา โดยคู่สายระบบ ISDN เพียง 1 คู่สายนี้ ผู้ใช้บริการ ISDN สามารถนำอุปกรณ์เครื่องปลายทางชนิดต่างๆมาติดตั้งใช้งานได้ถึง 8 เครื่อง และสามารถใช้งานอุปกรณ์สื่อสารได้พร้อมกัน 2 เครื่อง เพราะจะมีช่องสัญญาณสื่อสารอยู่ 2 ช่องสัญญาณ โดยแต่ละช่องสัญญาณสามารถติดต่อสื่อสารด้วยความเร็วสูงถึง 64 Kbps(กิโลบิตต่อวินาที) ทำให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว และเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน บริการชนิดนี้เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง
2.แบบ PRI (PRIMARY RATE INTERFACE) เป็นรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ISDN ด้วยการวางเคเบิลใยแก้วนำแสง(FIBRE OPTIC) ไปยังตู้สาขาอัตโนมัติ(ISDN PABX) ของผู้ใช้บริการ โดยมีช่องสัญญาณสื่อสารอยู่ถึง 30 ช่องสัญญาณ ด้วยความเร็วของช่องสัญญาณจะถูกมัลติเพล็กซ์เข้าด้วยกันแล้วส่งไปในสายส่งสัญญาณชนิด PRI ด้วยความเร็วสูงสุด 2.048 Mbps(เม็กกะบิตต่อวินาที) บริการชนิดนี้เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความต้องการรับส่งข้อมูลข่าวสารเป็นปริมาณมากด้วยความเร็วสูง

บริการเสริม (SUPPLEMENTARY SERVICE)
-บริการแสดง/ระงับแสดงหมายเลขที่เรียกเข้า (บนจอของเครื่องโทรศัพท์ ISDN)
-บริการเรียกเข้าตู้สาขาอัตโนมัติระบบ ISDN โดยตรง
-บริการให้หมายเลขประจำเครื่องมากกว่า 1 เลขหมาย
-บริการขอขยายเลขหมายเพิ่ม
-บริการส่งข้อความระหว่างผู้ใช้ (ไปบันทึกบนเครื่องปลายทางในกรณีที่ไม่มีผู้รับที่เครื่องปลายทาง)


-บริการถอด-ย้ายอุปกรณ์เครื่องปลายทาง (ในขณะที่มีการติดต่อกันอยู่ ทำให้สัญญาณไม่ถูกตัดขาด สามารถติดต่อกันได้)


พื้นที่ให้บริการ ISDN
องค์การโทรศัพท์ฯ ได้กำหนดเปิดให้บริการ ISDN ในพื้นที่ครอบคลุมย่านธุรกิจที่สำคัญในกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆที่เป็นย่านธุรกิจ ดังนี้
นครหลวง : สุรวงศ์ พหลโยธิน เพลินจิต พระโขนง ปทุมวัน ลาดพร้าว 1 ดอนเมือง แจ้งวัฒนะ นวนคร พระประแดง บางซื่อ (อโศกดินแดง สำราญราษฎร์ กรุงเกษม สุขุมวิท คลองเตย บางนา ชัยพฤกษ์ สาธุประดิษฐ์ ทุ่งมหาเมฆ เอกชัย หัวหมาก ดาวคะนอง สมุทรปราการ ปทุมธานี : พื้นที่เตรียมการติดตั้งชุมสาย ISDN เพื่อให้บริการในปี 2539)
ภูมิภาค : เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ นครราชสีมา สระบุรี ขอนแก่น พัทยา แหลมฉบัง มาบตาพุด สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ ภูเก็ต (สมุทรสาคร เชียงราย : พื้นที่เตรียมการติดตั้งชุมสาย ISDN เพื่อให้บริการในปี 2539)
ประเทศที่ให้บริการ ISDN ระหว่างประเทศ : สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น (เดนมาร์ก เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส สวีเดน เบลเยี่ยม นอร์เวย์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย : มีแผนจะเปิดให้บริการติดต่อกับประเทศเหล่านี้ผ่านระบบ ISDN ได้ในปี 2539)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น